เกร็ดท่องเที่ยว: เตรียมความพร้อมของบัตรเครดิตก่อนออกเดินทาง

เตรียมความพร้อมของบัตรเครดิตก่อนออกเดินทาง

ถ้าคุณกำลังเดินทางอยู่ในต่างประเทศ มีความจำเป็นต้องใช้บัตรเครดิต แล้วพบคำตอบจากร้านค้าว่า “ขอโทษครับ บัตรเครดิตใบนี้ใช้ไม่ได้ครับ” อาจทำให้คุณอึ้งไปชั่วขณะ และเสียอารมณ์ในวันพักผ่อนแสนสุข เราจึงอยากแนะนำเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ว่าคุณควรจะตรวจเช็คบัตรเครดิตของคุณอย่างไรบ้าง ก่อนการออกเดินทางครั้งต่อไป

  1. โทรแจ้งบริษัทบัตรเครดิตว่าคุณกำลังจะเดินทางที่ไหน ช่วงวันที่เท่าไหร่ โดยปกติแล้ว บริษัทบัตรเครดิตจะตรวจสอบรูปแบบการใช้ของผู้ถือบัตร ซึ่งถ้าพวกเขาพบว่ามีการซื้อไวน์ 3 ขวดในกรุงมะนิลา นั่นคงสร้างความสงสัยขึ้นในใจและทำให้บริษัทระงับการใช้จนกว่าคุณจะติดต่อกลับไปหาพวกเขา
  2. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าบัตรเครดิตของคุณสามารถใช้ได้ในประเทศที่กำลังจะเดินทางไป
  3. ตระเตรียมให้มีการจ่ายเงินค่าบัตรเครดิตโดยอัตโนมัติขณะที่คุณไม่อยู่ เพราะเป็นเรื่องง่ายที่จะลืมจ่ายบิลสักหนึ่งหรือสองงวด และคุณคงไม่อยากให้ประวัติเสียเพราะความจำไม่ดี
  4. ตรวจสอบว่าบัตรเครดิตใช้เบิกเงินสดล่วงหน้าได้ คงเป็นการดีหากคุณถอนเงินสดมาใช้ได้ ในกรณีที่ประสบปัญหา แต่โปรดจำไว้ว่าคุณจะต้องเจอกับอัตราดอกเบี้ยที่แพงมหาโหด
  5. ตรวจเช็คอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสำหรับการใช้ซื้อสินค้า โดยทั่วไปแล้ว บริษัทบัตรเครดิตจะให้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าธนาคาร
  6. เตรียมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อฉุกเฉินไว้ให้พร้อมเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ หากบัตรเกิดสูญหาย คุณคงต้องการใช้มันเป็นการด่วนแน่

มารู้จักกับ “ซานตาคลอส” ของแต่ละประเทศกัน

มารู้จักกับ “ซานตาคลอส” ของแต่ละประเทศกัน

 

Julemanden, Hotei-osho, Pere Noel, Buon Natale, der Weihnachtsmann ชื่อเหล่านี้ ไม่ใช่บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่คุณอาจเคยอ่านผ่านตาในหนังสือเรียนสมัยชั้นมัธยม แต่เป็นชื่อเรียกชายอ้วนหนวดขาวยาวรุงรังในใส่ชุดสีแดง หรือ ซานตาคลอส ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันนั่นเอง ไม่เพียงแต่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปเท่านั้น  ลุงซานต้ายังมีหน้าตาและรูปลักษณ์ที่แตกต่างออกไปในแต่ละประเทศอีกด้วย เราจะพาลุงซานต้าหน้าตาแปลกๆ มาแนะนำให้รู้จักกัน

 

ซานตาคลอสจีน
น่าประหลาดใจไม่ใช่เล่น ชาวจีนก็มีซานตาคลอสกับเค้าเหมือนกัน โดยมีนามว่า “Dun Che Lao Ren” ซึ่งหมายถึง “ชายแก่คริสต์มาส” เด็กๆ จะแขวนถุงเท้าผ้ามัสลินไว้พร้อมกับตั้งความหวังว่าจะได้รับของขวัญและดอกไม้ไฟจากซานตาคลอส เพื่อนำมาเล่นทันเวลาที่จะฉลองงานเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นงานเทศกาลที่สำคัญที่สุดในปฏิทินจีน ในช่วงคริสต์มาส ชาวจีนจะประดับประดาบ้านและ “บรรดาต้นไม้แห่งแสง” ของพวกเขาด้วยของตกแต่งในสไตล์เอเชีย ไม่ว่าจะเป็น กระดาษสีที่ใช้เทคนิคการตัดให้เป็นรูปร่างสวยงามยาวต่อเนื่องกันเป็นเหมือนโซ่และดอกไม้กระดาษ หรือ โคมกระดาษ

 

ซานตาคลอสญี่ปุ่น
แม้ว่าจะมีชาวญี่ปุ่นส่วนน้อยที่นับถือศาสนาคริสต์ แต่ในเทศกาลคริสต์มาสที่ญี่ปุ่นก็ตกแต่งตึกรามบ้านช่องให้เข้ากับเทศกาลเช่นกัน แถมยังมีซานตาคลอสกับเค้าอีกด้วย แต่เนื่องจากชาวญี่ปุ่นไม่อยากให้ลุงซานต้าเดินทางไกลข้ามทวีปมาถึงเอเชีย จึงหาตัวแทนที่มีลักษณะเหมือนกับซานตาคลอส นั่นก็คือ
Hotei-oshoหนึ่งในเทพโบราณทั้ง 7 ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภผู้มีหน้าตายิ้มแย้ม รูปร่างอ้วนท้วน และถือถุงใส่ของใบใหญ่ และว่ากันว่ามีดวงตาอยู่ที่ด้านหลังของศีรษะ จึงไม่ต้องใช้บริการเอลฟ์ตัวน้อยให้มาคอยช่วยบอกว่าคนไหนเป็นเด็กดีหรือว่าเด็กแสบ

 

ชาวญี่ปุ่นหลายคน โดยเฉพาะหนุ่มสาวยุคใหม่ ให้การต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสอย่างกระตือรือร้น ตามบ้านเรือนและอาคารมีการประดับประดาด้วยของตกแต่งที่วิจิตรและหรูหราทั่วทั้งประเทศในช่วงคริสต์มาส นอกจากนี้ การให้ของขวัญและการบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ก็เป็นส่วนสำคัญของการฉลองคริสต์มาสในแดนปลาดิบ  โดยถือว่าเป็นวิธีในการแสดงความรักและตอบแทนแก่ชุมชน

 

ซานต้าออสเตรเลีย
อุณหภูมิเฉลี่ยของช่วงเทศกาลคริสมาสต์ในแดนจิงโจ้นั้นจะอยู่ระหว่าง 25-38 องศาเซลเซียส เพราะเป็นฤดูร้อน ด้วยเหตุนี้เองซานตาคลอสของออสเตรเลีย หรือที่รู้จักกันในชื่อ “

Swag Man” เลือกที่จะสวมชุดที่แปลกแหวกแนวออกไป โดยจะใส่หมวกปีกกว้างสีน้ำตาล เสื้อแขนกุดสีฟ้า และกางเกงขายาวตัวใหญ่เพื่อป้องกันสัตว์ประหลาดอันแสนดุร้าย ตำนานกล่าวไว้ว่า Swag Man ใช้เวลาในช่วงฤดูหนาวพักอาศัยอยู่ใต้ภูเขา เอเยอร์ ร็อค (Ayer’s Rock) ซึ่งเป็นภูเขาหินศักดิ์สิทธิ์ของชาวอบอริจิสหรือชนพื้นเมืองของออสเตรเลีย และจะออกมาส่งมอบของขวัญให้แก่เด็กๆ ในช่วงคริสต์มาส โดยขับรถโฟร์วิลข้ามพื้นที่ห่างไกลและแห้งแล้งของออสเตรเลียที่เรียกว่าเอาท์แบ็ค

 

การเฉลิมฉลองคริสต์มาสของชาวออสซี่แตกต่างจากประเทศทางซีกโลกเหนือ เนื่องจากมีฤดูกาลที่ตรงกันข้ามกัน โดยสมาชิกในครอบครัวจะมารวมตัวที่สวนหลังบ้านและบนชายหาด พร้อมด้วยอาหารมากมาย ตั้งแต่อาหารทะเล พาสต้า ไปจนถึงไอศกรีมและเค้กผลไม้ หรืออาหารอะไรก็ได้ทั้งนั้นเพราะไม่มีธรรมเนียมกำหนดว่าต้องทานอะไรเป็นพิเศษในวันคริสต์มาส

 

ซานต้าบราซิล
สำหรับชาวแชมบ้าแล้ว พวกเขาเชื่อว่าซานตาคลอสอาศัยอยู่ในกรีนแลนด์และมีชื่อว่า “ปาปา โนเอล“ (

Papa Noel) ซานตาคลอสรายนี้มีวิธีรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนระอุของบราซิลได้อย่างชาญฉลาดด้วยการเลือกสวมชุดผ้าไหม แต่ทว่า ไม่มีการกล่าวถึงสีของเสื้อผ้าหรือมีรูปของ ปาปา โนเอล ให้เราได้ชมกัน

 

แม้ว่าช่วงคริสต์มาสของบราซิลจะตรงกับฤดูร้อน แต่ชาวเมืองกาแฟก็ยังเฉลิมฉลองงานเทศกาลดังกล่าวตามแบบฉบับดั้งเดิม โดยมีการจัดแสดงเรื่องราวการประสูติของพระเยซูที่เรียกว่าการแสดง

Presépio ในโบสถ์ บ้าน และตามร้านค้า ขณะที่ชาวแคธอลิคผู้เคร่งครัดก็จะเข้าร่วมพิธี Missa do Galo หรือพิธีมิสซาตอนเที่ยงคืนในวันคริสมาสต์อีฟจนกระทั่งถึงเวลาตี 1

 

ซานต้าประเทศกรีซ
ซานตาคลอสแห่งดินแดนเทพนิยายที่ชื่อว่าเทพนิโคลัส (

St.Nicholas) ออกจะดูไม่เนี้ยบสักเท่าไหร่เพราะชุดและหนวดของเขามักจะเปียกโชกไปด้วยน้ำทะเลอยู่เสมอ ด้วยความที่รับจ๊อบเป็นเทพที่ประจำอยู่ในท้องทะเล และทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์บรรดานักเดินเรือ แต่เมื่อว่างจากภารกิจในการช่วยเหลือลูกเรือที่จมน้ำหรือเรือที่อับปาง เทพนิโคลัสก็จะทำหน้าที่เป็นลุงซานต้าส่งมอบของขวัญให้แก่เด็กๆ

 

สำหรับชาวกรีก เทศกาลคริสต์มาสเริ่มต้นด้วยด้วยการอดอาหารเป็นเวลา 40 วัน จากนั้นพวกเขาก็จะลงมือตระเตรียมอาหารมื้อใหญ่เพื่องานเฉลิมฉลองในวันคริสต์มาส ซึ่งบ่อยครั้งจะมีการล้มหมูเพื่อนำมาเป็นอาหารจานหลัก โดยเสิร์ฟพร้อม christopsomo หรือขนมปังอบก้อนใหญ่ที่ได้รับการตกแต่งและแกะสลัก ส่วนต้นคริสต์มาสนั้น จะใช้กางเขนไม้ที่ห่อหุ้มด้วยช่อของโหระพาแทน ต้นคริสต์มาสแบบนี้ยังนับเป็นเครื่องรางเพื่อปัดเป่าวิญญาณของปีศาจก็อบลิน หรือที่รู้จักในชื่อว่า Killantzaroi

 

 

อาการเจ็ทแล็ก – วงจรชีวิตที่เต้นผิดเพี้ยน

เวลาที่เราต้องเดินทางไปต่างประเทศ ปัญหาที่มักเกิดขึ้นเสมอคือ ปัญหาเกี่ยวกับการนอน เช่น เมื่อเดินทางไปประเทศเยอรมนี เราจะง่วงนอนมากตอนประมาณ 2 ทุ่ม ซึ่งตรงกับเวลาตีหนึ่งในประเทศไทย หลายๆ คนอาจจะต้องใช้เวลาหลายวันในการปรับตัว อาการดังกล่าวข้างต้นเรียกว่า เจ็ทแล็ก (Jet Lag)

ใครก็ตามที่เคยเผชิญกับอาการเจ็ทแล็ก คงรู้ว่ามันทรมานแค่ไหน แต่ละคนก็อาจจะมีอาการต่างกันไป แต่โดยทั่วไปแล้ว ในการข้ามเส้นแบ่งเวลา 1 ชั่วโมง ควรจะต้องใช้เวลาพัก 1 วันเพื่อให้หายจากเจ็ทแล็ก ที่ผ่านๆ มา มีคนนำเสนอวิธีรักษามากมาย แต่ก็ยังไม่มีวิธีไหนที่ได้ผลชะงักจริงๆ ซะที อย่างไรก็ดี ลองปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ดู:

  1. รับประทานอาหารท้องถิ่นและเข้านอนตามเวลาท้องถิ่น เพื่อให้ชินกับกิจวัตรประจำวันแบบใหม่
  2. หลีกเลี่ยงการทานอาหารมากเกินไป ทานอาหารให้น้อยแต่บ่อยๆ รวมทั้งหมั่นกินผักและผลไม้ให้มากๆ
  3. นอนหลับให้เพียงพอก่อนที่คุณจะออกเดินทาง
  4. ออกกำลังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งในขณะที่อยู่ระหว่างการเดินทาง และเมื่อคุณกลับมาถึงบ้าน
  5. ห้ามทานยานอนหลับเกินขนาด ถ้าจำเป็นต้องใช้ ทานได้อย่างมากไม่เกิน 2 วัน
  6. หลีกเลี่ยงการดื่มของมึนเมาจนมากเกินไป (อาจจะยากไปสักหน่อย….แต่ก็พยายามหน่อยละกัน)

ข้อแนะนำเหล่านี้อาจจะไม่ได้ทำให้อาการเจ็ทแล็กหมดไป แต่อย่างน้อย ก็ช่วยให้คุณรักษาตัวได้เร็วขึ้นและป้องกันคุณจากการฟุบหน้าลงกับโต๊ะทำงาน พร้อมกับหาวหวอดๆ หลังจากการเดินทางอันยาวไกล